โรงเรียนตำรวจนครบาล
พ.ศ.๒๕๔๒ โรงเรียนตำรวจนครบาลได้ย้ายมาที่ เลขที่ ๑๘๙ หมู่ที่ ๕ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างการฝึกอบรมนพต. รุ่นที่ ๗๒ โรงเรียนตำรวจนครบาล(ภูบาล) จึงตั้งอยู่ ณ ทุ่งศาลายาแห่งนี้ และอยู่ในสังกัด กองบัญชาการศึกษา มาจนปัจจุบัน
โรงเรียนตำรวจนครบาล เคยมีชื่อว่า.... “โรงเรียนพลตระเวร” ตั้งอยู่ที่ วัดประยูรวงศาวาส เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า จังหวัดธนบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๑ มีหน้าที่ฝึกอบรมพลตระเวรให้มีความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ตำรวจ
ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ได้มีพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารใช้ในประเทศสยามและเป็นการเกี่ยวข้องอันสำคัญสำหรับตำรวจ เพราะว่าถูกเกณฑ์ทหารจะถูกคัดเลือกเข้ารับราชการตำรวจด้วย ผู้ถูกคัดเลือกเป็นตำรวจจะได้รับการอบรมและฝึกหัดในโรงเรียนตำรวจหนึ่งปี แล้วจะถูกส่งไปรักษาการณ์ตามถนนและท้องที่ทั่วไป เมื่อรับราชการครบสองปีแล้วตำรวจคนใดมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะรับราชการตำรวจ ก็อนุญาตใหสมัครเข้ารับราชการต่อไป
ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกรมพลตระเวรและกรมตำรวจภูธร เป็นกรมเดียวกันขึ้นต่อกระทรวงนครบาลเรียกว่า “กรมตำรวจกลางตำรวจนครบาล” ทำให้โรงเรียนพลตำรวจตระเวรต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนพลตำรวจนครบาล” มีฐานะเป็นกองกำกับการแต่มีผู้บังคับการเป็นผู้บัญชารับผิดชอบในการนี้มีโรงเรียนตำรวจขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชา ๒ โรงเรียน คือ
- โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
- โรงเรียนพลตำรวจนครบาล
ผู้บังคับบัญชาโรงเรียนที่ปรากฏหลักฐานในปี พ.ศ.๒๔๗๖ คือ อำมาตย์และว่าที่นายพันตำรวจหลวงอรรถธิบาลบัณฑิต ในปี ๒๔๗๖ นี้เองนับเป็นเกียรติประวัติโรงเรียนพลตำรวจนครบาลอย่างยิ่งคือ
เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖ เวลา ๑๑.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชหัตถ์เลาขา เมื่อทรงเยี่ยมโรงเรียนพลตำรวจนครบาลจึงขออัญเชิญมา ณ ที่นี้ว่า
“ ข้าพเจ้าได้มาเยี่ยมโรงเรียนตำรวจวันนี้ ได้เห็นการฝึกหัดรู้สึกว่าเป็นการฝึกหัดได้ผลดี พลตำรวจมีกิริยาท่าทางแข็งแรง รู้สึกว่ามีความตั้งใจดีมาก ข้าพเจ้าอยากจะขอเตือนนายตำรวจ ตลอดจนพลตำรวจให้รู้สึกว่าราชการในหน้าที่ตำรวจนั้น เป็นของสำคัญยิ่งสำหรับประเทศ ความเจริญของประเทศจะมีได้เมื่อเมืองสงบราบคาบ ประชาชนสามารถทำมาหากิน โดยไม่ต้องกังวลถึงความเป็นอันตรายจากพวกอันธพาล ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบราบคาบอยู่เป็นนิจ จึงนับได้่ว่ามีความสำคัญยิ่งถ้าทำการบกพร่องก็เท่ากับถ่วงความมเจริญของประเทษ ตำรวจมีหน้าที่ผิดกับทหาร ที่ต้องการเหมือนอยู่ในสนามรบเสมอ ต้องสู้กับข้าศึกตลอดเวลาจึงนับว่าเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาลส่วนหนึ่ง ตำรวจทุกคนจงระลึกถึงหน้าที่สำคัญของตนแล้ว และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยเติมกำลังความสามารถโดยสุจริต เพื่อส่งเสริมความเจริญของประเทศของเราให้เฟื่องฟูยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าขอให้พรแก่นายตำรวจและนายสิบตลอดจนพลตำรวจในโรงเรียนนี้ ขอจงมีความสุขสบายปราศจากโรคภัย ทุกประการเทอญ พระปรมาภิไธยย่อ ประชาธิปก “ปร” ”
ต่อจากพระราชหัตถ์เลข อำมาตย์ตรี และว่าที่นายตำรวจหลวงอรรถธิบาลบัณฑิตผู้บังคับการโรงเรียนพลตำรวจ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้บันทึกต่อท้ายความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชปฏิสันฐาน ต่อนายพลโทพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรพ อธิบดีกรมตำรวจ ตามสมควรแล้ว เสด็จทอดพระเนตรสถานที่พักพลตำรวจ แล้วทรงประทับกองบังคับการได้ทรงลงลายพระหัตถ์เลขา ดังมีข้อความ ได้ถ่ายแบบไว้ข้างบนนี้ เป็นข้อความที่ตำรวจภูธรและตำรวจนครบาล ควรเอาใจใส่สำเหนียกจดจำไว้ปฏิบัติราชการ พอเวลาเที่ยงวัน ๓๔ นาที พระราชดำเนินกลับ
ทั้งนี้ บรรดาข้าราชการตำรวจโรงเรียนพลตำรวจ รู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณในการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมโรงเรียนพลตำรวจและถือว่าเป็นศิริมงคลอันประเสริฐ ลงนามอำมาตย์ตรีและว่าที่นายพันตำรวจหลวงอรรถธิบาลบัณฑิต ผู้บังคับการโรงเรียนพลตำรวจและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ (เป็นสมัยที่ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ เป็น อ.ตร) ได้สร้างความเจริญเป็นปึกแผ่นและเข้มแข็งโดยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการฝึกอบรมพลตำรวจ ให้มีความรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น
โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างสถานีรถไฟบางเขนกับสถานีรถไฟหลักสี่ (ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๑๘) ซึ่งสมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวกต้องเดินทางโดยรถไฟ ถนนหน้าโรงเรียนยังเป็นถนนลูกรัง ไม่มีรถยนต์ผ่านไปมาเหมือนปัจจุบันหน้าโรงเรียนหันหน้าไปทิศตะวันตก(ริมฝั่งขวาของถนนกรุงเทพฯ-สระบุรีหรือถนนซุปเปอร์ไฮเวย์) ที่ทำการเดิมมีรายการดังนี้
- กองกำกับการ ๑ หลัง
- กองรักษาการณ์ ๑ หลัง
- สโมสร ๑ หลัง
- ห้องประชุมใหญ่ ๑ หลัง
- อาคารกองร้อยรวม ๔ หลัง
- หมวดพยาบาล ๑ หลัง
- ห้องแถวพันนายสิบพยาบาล ๑ หลัง
- โรงครัว ๑ หลัง
- ห้องพักแถวตำรวจและข้าราชการวิสามัญโรงครัว ๑ แถว ๔ หลัง
- โรงไฟฟ้า ๑ หลัง
- ที่พักครูฝึกชั่วคราว ๒ ห้อง
- โรงเก็บรถ ๑ หลัง
- โรงสูบน้ำ ๑ หลัง
- โรงเก็บกระสุน ๒ หลัง
- อาคารบ้านพักนายตำรวจชนิดเรือนหลัง ๕ หลัง
- อาคารบ้านพักนายตำรวจเรือนแถว ๕ ห้อง ๑ หลัง
- อาคารบ้านพักนายสิบพลตำรวจชนิดเรือนแถวมี ๒๑ ห้อง ๓ แถว ปลูกในที่ดินกรมตำรวจตรงข้าม รร.น.
มีบริเวณพื้นที่ทั้งหมดดังนี้
บริเวณศูนย์ฝึกบางเขน ๖๐ ไร่ ๓ งาน ๖๘ วา บริเวณบ้านพักนายตำรวจและข้าราชการอีกประมาณ ๒๔ ไร่
เมื่อทางกรมตำรวจได้สร้างเสร็จแล้ว จึงสั่งให้ย้ายจากที่ดั้งเดิม อำเภอปทุมวันมารวมอยู่ที่อำเภอบางเขน เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ เมื่อย้ายมาเสร็จเรียบร้อยทางกรมตำรวจได้แบ่งการปกครองของ รร.น. ออกเป็น ๕ กองร้อย ตามที่กล่าวมาแล้ว โดยได้แบ่งออกเป็น ๒ ฐานะคือ
- เรียกว่า “ศูนย์การฝึกบางเขน” มี ๒ กองร้อย สำหรับอบรมทบทวนข้าราชการตำรวจคือกองร้อยที่ ๔ และ ๕
- เรียกว่า “กองกำกับการโรงเรียนตำรวจนครบาล” มี ๓ กองร้อย สำหรับรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลภาบนอกเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ทางราชการได้มี พ.ร.ฏ. ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๒ ตอนที่ ๕๑ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๘ การแบ่งส่วนราชการโดยให้รวมศูนย์ฝึกอบรมบางเขนกับกองกำกับการโรงเรียนตำรวจนครบาลเป็น “กองกำกับการโรงเรียนตำรวจนครบาล” มีหน้าที่ ๒ ประการคือ
ประการที่ ๑ รับบุคคลภายนอกเข้ารับราชการฝึกอบรมเป็นนักเรียนพลตำรวจ
ประการที่ ๒ รับนายสิบพลตำรวจที่อยู่ตามสถานีในพระนครธนบุรีมาทำการฝึกทบทวน
ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ทางราชการได้ออก พ.ร.ฏ. แบ่งส่วนราชการของกรมตำรวจต่าง ๆ ของกรมตำรวจไปขึ้นสายงานอยู่ในบังคับบัญชาของกองบัญชาการศึกษา (ใช้อักษรย่อ บช.ศ.) ตั้งแต่บัดนั้นจจนมาถึงปัจจุบันนี้